มือใหม่หัดถ่ายรูป – ตอนที่ 4 ว่าด้วย Aperture / Speed Shutter / ISO

เรื่องต่อไปที่เราจะพูดถึงคือ 3 พี่น้อง Aperture / Speed Shutter / ISO หรือจะเรียกย่อๆ ว่า A / S / ISO ก็ไม่ผิดกฎแต่อย่างใด

เหตุผลที่รวมเจ้า 3 ตัวนี้เข้ามาอยู่ในบทเดียวกันก็เพราะพวกมันทั้ง 3 มีผลต่อปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องไงล่ะ

และถ้าใช้และควบคุม 3 อย่างนี้ได้คล่อง ก็ถือว่าผ่านระดับมือใหม่ได้แล้วประมาณนั้นเลย

** รูปตัวอย่างที่เอามาให้ดูในบทนี้ เราถ่ายเองทั้งหมด และเอามาให้ดูแบบไม่ได้ปรับหรือรีทัชรูปอะไรเลย เพื่อให้เข้าใจ A S ISO ดียิ่งขึ้น

Aperture หรือไดอะเฟรมหน้ากล้อง

หาคุณมองเข้าไปในเลนส์ คุณจะเห็นว่ามีใบปัดอะไรสักอย่างอยู่ที่ปลายสุดของเลนส์ ส่วนใหญ่จะมีใบทั้งหมดประมาณ 7 ใบ

ซึ่งเจ้าใบพวกนี้จะขยับได้ ซึ่งมีผลต่อขนาดของรูตรงกลางนั่นล่ะนะ

เราเรียกเจ้านี่ว่า aperture หรือหน้ากล้องนั่นแหละ

ทีนี้ การที่หน้ากล้องเปิดเยอะ ถ้าบอกว่ามันก็ทำให้แสงผ่านเข้าสู่กล้องได้เยอะก็คงเข้าใจง่ายเนอะ แต่ที่ยังไม่น่าจะเข้าใจคือ "รูป" ที่ได้จากการเปิดหน้ากล้องกว้าง และเปิดหน้ากล้องแคบมันต่างกันยังไงกันล่ะ

ปกติแล้วเราจะเรียกความกว้างของ Aperture ด้วยหน่วยคือ F-Stop

เช่น f1.8 f3.5 อะไรแบบนั้น

ส่วนถ้าสงสัยว่าเลขพวกนี้มาจากอะไรก็...

ค่า F  =  อัตราส่วนระหว่าง Focus length / Aperture Size

Focus length คือทางยาวของโฟกัสของเลนส์กล้อง (ศัพท์ภาษาชาวบ้านคือคุณซูมไกลแค่ไหนนะ)

ซึ่งอัตราส่วนพวกนี้มีผลต่อรูปคือทำให้บางจุดของรูปมีอาการ "เบลอ" นั่นเอง

Depth of Field - ชัดตื้น / ชัดลึก

ดูตัวอย่างจากรูปข้างล่าง ซึ่งตั้งกล้องถ่ายในจุดเดียวกัน แต่ค่อยๆ ปรับค่า F ให้เพิ่มขึ้นทีละนิด

ในฉาก(ห้องรกไปหน่อย ขออภัย) เราวางแก้วน้ำไว้หน้าสุด จากนั้นเป็นกองหนังสือ และแบ็คกราวด์ที่อยู่ห่างออกไป

จะเห็นว่ายิ่งค่า F น้อย (หมายถึงรูปรับแสงกว้างสุดๆ) บริเวณส่วนที่เราโฟกัสอยู่(คือแก้วน้ำ)จะชัด แต่ฉากหลังเบลอหมด แต่เมื่อยิ่งปรับค่า F ให้มากขึ้น (หมายถึงรูรับแสงเล็กลง) ภาพจะเริ่มเห็นรายละเอียดของฉากข้างหลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การที่เราสามารถคุมให้ภาพมีส่วนชัด-ส่วนเบลอพวกนี้เราเรียกว่า

ชัดตื้น / ชัดลึก

ชัดตื้นก็คือการถ่ายภาพให้เห็นส่วนโฟกัส (แก้วน้ำ) ชัดที่สุด ส่วนอื่นไม่ว่าจะเป็นกองหนังสือข้างหลังหรือแบ็คกราวด์ให้เบลอๆ ไป

แต่ถ้าเป็นชัดลึกคือไม่ว่าวัตถุจะอยู่ไกลหรือใกล้แค่ไหน เราก็จะเห็นมันชัดเท่ากัน

ส่วนสาเหตุที่เป็นแบบนี้ให้อ่านในหัวข้อถัดไป ซึ่งค่อนข้างจะออกแนววิทย์เล็กน้อยๆ ใครไม่สนใจก็ข้ามไปได้

ทำไมรูรับแสงกว้างถึงเบลอหลังได้

มาทำความเข้าใจเรื่องการเดินทางของแสงผ่านเลนส์กันสักหน่อย

เลนส์เป็นกระจกที่ใช้รวมแสงก่อนจะเข้าสู่เซ็นเซอร์ ก็เหมือนการทำงานของดวงตาคนนั่นแหละ แต่ต่างกันตรงที่เลนส์เป็นกระจกแข็งๆ ไม่สามารถเปลี่ยนขนาดได้เหมือนเลนส์ในตาคน

ทีนี้พอมันเป็นของที่ static ซะขนาดนี้ แปลว่าเลนส์หนึ่งตัวจะมีระยะโฟกัสของตัวเองที่ตามตัวนะ ขยับไม่ได้

สมมุติว่าเลนส์ของเรามีระยะโฟกัสที่ 50mm. ถ้าตัวแบบของเราอยู่ที่ตำแหน่ง 50mm. พอดีเป๊ะ! ภาพที่สะท้อนจากเลนส์ตกบนเซ็นเซอร์ก็จะสวยงามคมชัด แต่เมื่อเป้าหมายขยับตัวออกจากตำแหน่งนั้น ไม่ว่าจะเดินเข้ามาหรือเดินห่างออกไปก็จะส่งผลให้เห็นเป็นภาพเบลอแทนไงล่ะ

และนั่น! ก็เป็นเหตุผลที่เวลาเลนส์กำลังโฟกัสเป้าหมายของเรามันต้องขยับซูมเข้าซูมออกยังไงล่ะ เพื่อปรับให้ตำแหน่งของเลนส์อยู่ในระยะที่โฟกัสได้พอดี

แต่พอเราทำการลดขนาดรูรับแสงลง จึงเป็นการบังคับให้แสงเดินทางเข้าสู่เลนส์ในช่องแคบๆ ดังนั้นไม่ว่าแสงจะเดินทางมาจากตำแหน่งที่อยู่ใกล้-ไกลแค่ไหนจึงไม่มีผลต่อความชัดนั่นเอง

อ้อ! แต่ก็ใช่ว่าเราจะใช้ fน้อย ได้ตลอดนะ เพราะเมื่อรูรับแสงเล็กลงแล้วก็จะส่งผลต่อปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้อง ทำให้ภาพที่ได้ออกมา แม้จะชัดทั้งภาพแต่ก็จะมืดลงนั่นเอง

หรือถ้ายังไม่เห็นภาพลองดูวีดีโอนี่ดูนะ

โอเค ... พูดไปตั้งยาว สรุปง่ายๆ ว่า

ค่า F น้อย = รูปรับแสงกว้าง = ชัดตื้น

ค่า F มาก = รูปรับแสงแคบ = ชัดลึก

แบบนี้ละกัน (ฮา)

ชัดตื้น - รูปรับแสงกว้าง ค่าFน้อย

ส่วนมากการถ่ายภาพชัดตื้นจะใช้กับภาพบุคคลหรือ Portrait เพราะจะทำให้ตัวแบบดูเด่น ลอยออกมาจากฉากหลังชัดเจน

แต่ก็ไม่จำเป็นนะว่าต้องเป็นการถ่ายภาพคนเท่านั้น เพราะเราสามารถเล่นมุมกล้องเพื่อเน้นจุดเด่นที่ต้องการให้คนเห็นในภาพแทนก็ได้

ชัดลึก - รูรับแสงแคบ ค่าfเยอะ

ส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ได้บังคับ ชัดลึกมักจะใช้กับรูปถ่ายวิว เพราะเป็นการแสดงให้เห็นภาพแบบรวมๆ ไม่ได้เน้นไปที่จุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้นเรามักจะให้ภาพวิวเป็นภาพที่ทุกจุดชัดหมดทั้งภาพ ... และส่วนมากแล้วจะถ่ายออกมาในมุมมองแบบไวด์หรือแบบกว้างด้วย

แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ว่าเราบังคับให้ใช้ fมากกับภาพถ่ายคน และ fน้อยกับภาพวิว แบบนี้หรอกนะ คุณจะใช้ยังไงก็ได้แล้วแต่การจัดวางภาพในตอนนั้นของคุณล่ะ

TIP: จากที่ลองถ่ายๆ มา ค่า fแคบๆ เช่น 1.8 - 2.0 เวลาถ่ายจะต้องปรับโฟกัสให้ถูกต้องเป๊ะๆ มากๆๆๆ ไม่งั้นถ่ายออกมาแล้วลองซูมดู จะพบว่าภาพจะออกเบลอๆ ไปหน่อย ทางที่ดีความจะใช้ประมาณ 3.5 จะกำลังดี ... แต่ก็ไม่ควรเกิน f8 เพราะถ้าเลยไปกว่านั้น ภาพจะดูชัดเท่ากันก็จริง แต่เมื่อรูรับแสงแคบมากๆ มันก็จะทำให้ภาพดูมืดเกินไปด้วย

Shutter Speed

แฟคเตอร์ตัวที่สองที่มีผลต่อปริมาณแสงเข้ากล้องคือความเร็วชัตเตอร์

ในบล๊อกก่อนๆ เราเคยพูดถึงม่านชัตเตอร์ไปแล้วครั้งนึง (จำได้ม๊ะ) เวลาที่เรากดชัตเตอร์ เจ้าม่านชัตเตอร์เนี่ยก็จะเลื่อนผ่านเซ็นเซอร์เพื่อเปิดให้แสง(ที่สะท้อนจากวัตถุ)เข้าไป แต่ม่านชัตเตอร์จะเปิดเยอะหรือเปิดน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของเรา

หน่วยของ shutter speed จะใช้เป็น second หรือวินาที (เข้าใจง่ายเนอะ?) โดยมีความหมายว่าชัตเตอร์จะเปิดรับแสงนานเท่าไหร่ เช่น 1/100s. ก็หมายความว่าม่านชัตเตอร์จะเปิดเป็นเวลา 1ส่วน100ของวินาที (ระ..เร็ว!) แต่ถ้าเป็น 2s. ก็หมายความว่าชัตเตอร์จะเปิดค้างอยู่อย่างนั้น 2วินาทีเลย

ผลที่ได้คือวัตถุจะดูเหมือนหยุดนิ่งที่ชัตเตอร์สูง (เช่น 1/1000 s) และภาพจะดูมีความเคลื่อนไหวหรือดูเบลอๆ ปาดๆ ตามทิศการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ชัตเตอร์ต่ำ (เช่น 2 s)

ส่วนการใช้ชัตเตอร์จะใช้กรณีไหนน่ะ ก็ขึ้นอยู่กับว่าอยากถ่ายรูปออกมาให้ภาพหยุดนิ่งแค่ไหน หรือยากทำไฟวิ่งเป็นเส้นรึเปล่า หรืออยากเป็นเสี้ยววินาทีช็อทเด็ดกัน

ข้อความระวังเรื่องปริมาณแสง

ทั้ง Aperture และ Shutter Speed ที่พูดผ่านไป มีจุดที่ต้องระวังเวลาปรับค่าคือถ้าเราปรับไม่ดี จะส่งผลให้แสงเข้าสู่เซ็นเซอร์น้อยเกินไป ซึ่งมันทำให้ภาพมืดได้!

โดยในกรณีของ Aperture ถ้าเราใช้ fแคบ (เลขเยอะๆ เช่น f8 f16) แสงจะเข้ากล้องได้น้อยกว่าปรับ fกว้างๆ (เช่น f1.8 f3.5) แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นภาพที่ได้จะมืดกว่า

ส่วนในกรณีของความเร็วชัตเตอร์ อันนี้เข้าใจไม่ยาก ยิ่งเปิดหน้ากล้องนาน เราก็จะได้แสงเข้ากล้องที่เยอะ กลับกันถ้าเป็นแป๊บเดียว แสงก็จะเข้าน้อย ทำให้ภาพที่ชัตเตอร์นานกว่าสว่างกว่าชัตเตอร์สั้นๆ อยู่แล้ว

แล้วแปลว่าอะไรล่ะ?

ก็ถ้าเราใช้ fแคบ (รูรับแสงแคบ) เราก็ต้องการปริมาณแสงที่เข้ากล้องนานขึ้นเพื่อทำให้ภาพสว่างขึ้น และในทำนองเดียวกัน ถ้าใช้ชัตเตอร์สูง (เป็นชัตเตอร์แป๊ปเดียว) เราก็ต้องชดเชยแสงโดยการปรับหน้ากล้องให้กว้างขึ้นยังไงล่ะ

fแคบ ชดเชยด้วย shutterที่นานขึ้น

shutterแป๊ปเดียว ชดเชยด้วยการเปิดหน้ากล้องให้กว้างขึ้น

สุดท้ายคือถ้าเราใช้ fแคบแถมยังตั้งชัตเตอร์ซะเร็วอีก ผลที่ได้คือภาพมืดมากล่ะนะ (under)  ... และกลับกัน ถ้าตั้งสปีดชัตเตอร์ลากยาวๆ แล้วยังเปิดหน้ากล้องกว้างสุดอีก ภาพก็จะขาวสว่างเกิน (over)

สังเกตดูว่าค่าอื่นๆ ปรับเหมือนเดิมเลย แค่ถ้าเราถ่ายรูปออกมาแล้วมันดูมืดไปจนมองไม่เห็นอะไรเลย หน้ากล้องก็เป็นซะ fกว้างสุดๆๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่สว่างขึ้นเลย ทางแก้คือดันให้สปีดชัตเตอร์ยาวขึ้น ... อย่างในตัวอย่าง จาก1/320 s ก็เพิ่มเป็นสัก 1/40 s ซะเลย

การใช้ชัตเตอร์ต่ำ ควรจะรู้ด้วยว่าลิมิตของตัวเองถือกล้องให้นิ่งได้แค่ไหน เพราะถ้าเลยกว่านี้ไป มือสั่น ภาพจะส่าย ทางเลือกคือถ้าอยากใช้ชัตเตอร์ต่ำมากจริงๆ ให้หาที่วางกล้องไว้หรือใช้ขาตั้งกล้อง ... แต่ชัตเตอร์สูงมักใช้แค่ 1/1000 เพราะถ้าเร็วกว่านั้น จะเจอเหตุการณ์เดียวกับ fแคบคือภาพมืดและบางครั้งจะเจอแสงแปลกปลอมติดมาในภาพด้วย

สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองถือได้เท่าไหร่เอาสูตรนี้ไปละกัน

ตั้งความเร็วชัตเตอร์อย่าเกิน = 1/ความยาวโฟกัสตอนนั้น

เช่นหมุนเลนส์ไปที่ระยะ 80 mm. ก็ไม่ควรใช้สปีดชัตเตอร์เกิน 1/80 s. เพราะยิ่งเลนส์ซูมออกไปเยอะเท่าไหร่ มันก็จะสั่นง่ายขึ้นเท่านั้น

ISO

ในสมัยก่อน ตอนยุคกล้องฟิล์ม iso ถือว่าเป็นค่าที่ปรับไม่ได้ เพราะมันดันมากับตัวฟิล์มเลย เพราะสมัยก่อนฟิล์มแต่ละชนิดจะมีค่า ความไวแสง ที่ไม่เท่ากัน เขาเลยตั้งมาตราฐานกลางขึ้นมาเพื่อเป็นคำเรียก ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า ISO

คุ้นๆ มั้ย? ใช่แล้วล่ะ มันคือชื่อของมาตราฐาน เช่น ISO1000 อะไรทำนองนั้นที่โรงเรียนชอบเอามาโฆษณาตัวเองว่าผ่านมาตราฐาน นั่น โน่น นี่ พวกนั้นแหละ

โดยในสมัยกล้องฟิล์มเราจะแบ่ง ISO ของฟิล์มเป็นประเภทหลักๆ ประมาณนี้

  • ISO 100 หมายถึงค่าความไวแสงมาตราฐาน ใช้ถ่ายตอนกลางวัน
  • ISO 200 หมายถึงฟิล์มจะไว้แสงขึ้นมานิสสสนึง ใช้ตอนตอนแสงน้อย เช่นตอนเย็นๆ
  • ISO 400 หมายถึงฟิล์มไวแสงมาตราฐาน ใช้ถ่ายภาพตอนกลางคืน

แต่ปัจจุบันเราเลิกใช้ฟิล์มกันแล้ว! กลายมาเป็นเซ็นเซอร์แทน ซึ่งเจ้าเซ็นเซอร์นี่มันก็เก่งกว่าฟิล์มคือมันสามารถตั้งได้เลยว่าภาพต่อไปที่เรากำลังจะถ่ายจะให้มันไวแสงแค่ไหน ไม่ใช่แบบตอนกล้องฟิล์ม เลือกตลับฟิล์มก่อน เลือกแล้วเลือกเลย เปลี่ยนไม่ได้นะ

เซ็นเซอร์สมัยนี้บางครั้งมันมองเห็นแสงที่ตาคนมองไม่เห็นด้วย แค่ตอนกลางคืนหรือสภาพแสงน้อยๆ เรอะ มองเห็นได้อยู่แล้ว

สรุปคือในปัจจุบัน สำหรับกล้องดิจิตอล เราอยากให้เซ็นเซอร์ไวต่อแสงแค่ไหนก็ทำได้ และไม่ได้ทำได้แค่ ISO400 แบบสมัยก่อนด้วย มันดันได้ถึงหลักหมื่นกันแล้ว

จากตัวอย่างข้างบน เราตั้งกล้องถ่ายโดยดัน ISO ขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่า ISO25600 นี่สว่างแทบจะเป็นตอนกลางวันเลยทีเดียวล่ะ (ลองเทียบกับภาพสุดท้ายที่เป็นแสงที่คนเห็น)

เอาล่ะ! แล้วเราจะปรับค่า ISO เมื่อไหร่ดีนะ ... เมื่อกี้อธิบายไปแล้วว่าถ้าเราใช้ fแคบคู่กับชัตเตอร์สูงจะทำให้ภาพออกมาดูมืดติ๊ดตื๋อ แต่ถ้าเราดันอยากปรับค่าตอนนั้นจริงๆ ล่ะ แต่ขอภาพสว่างกว่านี้หน่อยได้มั้ย ทางออกที่ดีที่สุดคือการดันค่า ISO

Noise ดาบสองคมของ ISO สูง

แต่ใช่ว่า ISO จะทำให้ภาพทุกภาพของเราสว่างไสวได้ทุกกรณีหรอกนะ เพราะเมื่อเซ็นเซอร์ของเราไวต่อแสงมากขึ้น จะมีสิ่งที่เรียกว่า Noise เกิดขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

ในภาพตัวอย่างนี้มืดมาก (มืดกว่าที่เห็นในรูปอีก) เพราะแทบไม่มีไฟทางเลย เปิดหน้ากล้องกว้างสุดที่เลนส์ตอนนั้นทำได้คือ f3.5 แล้ว ส่วนชัตเตอร์ก็ดันสุดๆ ไปที่ 1/80 แล้วเพราะไม่มีขาตั้งกล้อง แต่ก็ยังไม่สว่างพออยู่ดี

เราเลยดัน ISO ซะสุดขีดที่กล้องทำได้คือ ISO25600 (สำหรับ Sony NEX-5T) ผลคือภาพสว่างขึ้นทันใด แต่เมื่อซูมเข้าไปใกล้ๆจะเป็นว่ามีเม็ดสีเล็กๆ ทำให้ภาพดูน่าเกลียดไปเลย เจ้าพวกนี้แหละที่เรียกว่า Noise หรือสัญญาณรบกวน

ส่วนสาเหตุของ Noise นั้นเป็นจากเซ็นเซอร์ที่เป็นวงจรไฟฟ้า ยิ่งเราตั้งให้มันไวต่อแสง จะมีปริมาณไฟฟ้าวิ่งผ่านเยอะ เมื่อวิ่งผ่านเยอะมันก็เกิดการชนกันสปาร์คออกมาเป็นจุดๆๆๆ พวกนั้นแหละ

TIP: ISOสูงสุดที่แนะนำให้ใช้ คือครึ่งหนึ่งของ ISO สูงสุดที่กล้องนั้นทำได้ งงล่ะสิ...สมมุติว่ากล้องเราตั้งค่า ISO ได้ตั้งแต่ 100 200 400 800 1600 3200 6400 12800 25600 คือมีทั้งหมด 9 ระดับ (ค่า ISO จะเพิ่มที่แบบดับเบิ้ล) แนะนำว่าไม่ควรใช้เกิน 3200 ซึ่งเป็นค่าครึ่งนึงพอดี จะได้ภาพออกมาที่ Noise ไม่เยอะจนเตะตา (ฮา)

สรุป

เรามีค่าที่ปรับได้หลักๆ 3 ค่าคือ Aperture / Shutter Speed / ISO ลองดูแผนภาพข้างล่างเปรียบเทียบอีกทีละกัน

สุดท้าย สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเล่นกล้องใหม่ๆ บอกเลยว่าคุณปรับมันไม่ทันหรอก (ฮา) แต่ให้ลองไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ สักพักจะเริ่มรู้เองว่าสถานการณ์แบบไหนที่ควรตั้งค่าอะไร เพื่อไม่ให้ถ่ายเสร็จกลับมาเปิดดูในคอมแล้วอุทานว่า "ภาพมันเบลอนี่หว่า!"

เจอกันใหม่บล๊อกหน้า 😉

25315 Total Views 2 Views Today
Ta

Ta

สิ่งมีชีวิตตัวอ้วนๆ กลมๆ เคลื่อนที่ไปไหนโดยการกลิ้ง .. ถนัดการดำรงชีวิตโดยไม่โดนแสงแดด
ปัจจุบันเป็น Senior Software Engineer อยู่ที่ Centrillion Technology
งานอดิเรกคือ เขียนโปรแกรม อ่านหนังสือ เขียนบทความ วาดรูป และ เล่นแบดมินตัน

You may also like...

4 Responses

  1. tanaiwirat พูดว่า:

    ความรู้ดีมากๆครับ…

  2. tanaiwirat พูดว่า:

    ความรู้ดีมากๆ ครับ

  3. Weerachai พูดว่า:

    ขอบคุณครับ ได้ความรู้เยอะมาก สำหรับมือใหม่

  1. 21 มิถุนายน 2016

    […] อย่างสุดท้ายที่ Focal Length ส่งผลคือระยะที่ชัดที่สุดที่กล้องจะโฟกัสได้ ซึ่งก็ไม่ได้ค่า Focal Length ค่าเดียวที่มีผลต่อ Depth of Field เพราะมันต้องทำงานร่วมกับค่า F-Stop (อ่านเพิ่มเติมได้ในตอนที่ 4 หัวข้อ Aperture) […]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *