ครู / อาจารย์ ผู้บรรยาย … และ ติวเตอร์

* บทความในหมวด คหสต. เป็นความคิดเห็นของเราคนเดียว กรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่าน คุณอาจจะไม่คิดอย่างนี้ก็ได้ เราเชื่อในความคิดและความไม่เป็นกลางของทุกคน

เมื่อเดือนสองเดือนก่อนได้ยินคนรู้จักพูดเกี่ยวกับเรื่องว่าปีนี้การสอบครูผู้สอนวิชาหนึ่งมั้ง ไม่มีคนที่สอบผ่านเลย
โดยเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ข่าวเรื่องผู้ที่เข้าสอบเพื่อจะเป็นครูทำการโกงการสอบหรืออะไรประมาณนั้น

เรื่องนี้ทำให้เราเริ่มจะคิด (ปกติก็คิดอยู่แล้วนะ แต่มันรู้สึกเหนื่อยใจ) ว่าทำไมประเทศนี้ถึงไม่ให้ความสำคัญกับอาชีพครูเสียบ้างนะ

ไม่ให้ความสำคัญนี่หมายความว่าเงินเดือนของครูนั้นมันต่ำต้อยติดดินเหลือเกิน ขนาดครูที่ทำงานมานานจนจะเกษียนอยู่แล้วยังได้เงินเดือนน้อยกว่านักศึกษาจบใหม่บางคนเสียอีก

ใครบอกว่าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ใช่! คุณพูดถูก ... เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่มันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ถ้ายังคิดจะอยู่ในสังคมโลกนี้
ด้วยเหตุนี้แหละเป็นเหตุที่ทำให้ไม่มีคนเก่งๆ ยอมมาทำอาชีพครู
ก็ในเมื่อมันได้เงินน้อยเหลือเกิน ไปทำอาชีพอื่นที่ได้เงินเยอะๆ ดีกว่ามั้ย?

เอาล่ะ เมื่อคนเก่งๆ ไปทำอาชีพอื่นกันหมดแล้ว...ถ้าอย่างนั้นใครล่ะที่จะมาเป็นครู?
ก็คือคนไม่เก่งที่เหลือจากข้อข้างบนไงล่ะ แล้วให้คนไม่เก่งมาสอนนักเรียน แล้วนักเรียนมันจะไปเรียนรู้เรื่องได้ยังไง
ทีนี้ก็มีคนเก่งบางคนเห็นโอกาสในเรื่องนี้ ก็เลยเปิดโรงเรียนกวดวิชาขึ้นซะเลยโดยค่าเรียนนั้นน่ะมันได้มากกว่าเงินเดือนครูอยู่แล้ว

เอาล่ะ ไหนๆ ก็มาพูดเรื่องนี้กันแล้ว
เราลองมาดูนิยามของคำพวกนี้กันหน่อยดีกว่า (นิยามในใจของผู้เขียน คนอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้)

ครู/อาจารย์

สำหรับเราแล้ว คำว่า "ครู" และ "อาจารย์" นั้นไม่ต่างกัน...คนที่เราจัดอยู่ในกลุ่มพวกนี้เราจัดว่าเป็น ผู้สอนอาชีพ เกิดมาเพื่อสอนและให้ความรู้คนจริงๆ ตั้งใจสอน ไม่มีกั๊ก อยากให้คนเรียนเอาความรู้พวกนี้ไปพัฒนาต่อยอดได้

ศิษย์ต้องเหนือกว่าอาจารย์ .. ก็เป็นแนวคิดของคนพวกนี้แหละ

เอาเป็นว่าผู้สอนคนไหนที่อยู่ในกลุ่มนี้จงภูมิใจเถอะว่าคุณเป็นผู้มีพระคุณของใครหลายๆ คน ประมาณว่าเป็นอาจารย์วิชาเซียนบนยอดเขาสูงที่จอมยุทธ์จะพยายามเดินทางขึ้นไปหาตัวให้เจอแล้วขอฝากตัวเป็นศิษย์แบบในหนังจีนกำลังภายใจ (ฮา)

แต่ก็มีครู/อาจารย์อีกพวกที่เราไม่ค่อยจะชอบสักเท่าไหร่
นั่นคืออาจารย์บางคนในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งบางครั้งก็จะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า...

ผู้บรรยาย

เคยไหมที่ครูสั่งให้ทำรายงานเรื่องหนึ่งแล้วมาพรีเซ้นต์
หน้าห้อง อ่ะ...งั้นเราก็ทำ powerpoint ละกัน เอาเนื้อหาที่หามาจาก google
หรือ wiki ปะเข้าไป แล้วออกมาหน้าห้องแล้วอ่านตาม

นักเรียนหลายๆ คนทำแบบนี้ ซึ่งก็มักจะโดนว่าว่าออกมาอ่านแบบนี้ใช้ได้ที่ไหนกัน ทำไมไม่สรุปมาให้เรียบร้อยหรืออะไรประมาณนั้น

ทว่า...อาจารย์ในมหา'ลัย (จริงๆ ในระดับโรงเรียนก็มีให้เห็นอยู่) หลายคนกลับสามารถทำแบบนั้นได้!
แล้วนักเรียนล่ะ แย้งว่าอาจารย์ทำไมไม่สรุปใจความมาล่ะ

แน่นอนว่าเราทำแบบนั้นไม่ได้

สำหรับเรา กลุ่มผู้สอนพวกนี้เรียกว่าผู้บรรยาย เราไม่ถือว่าคนสอนพวกนี้สอนเรา เขาแค่ออกมาพูดอะไรสักอย่างให้เราฟัง
อันนี้นอกจากในห้องเรียนแล้วเราก็พบได้ทั่วไปนะ
เช่นงานสัมมนาซึ่งบางคนพูดแบบบรรยายก็จริงแต่เนื้อหาและลำดับการพูดนี่
เยี่ยมไปเลย พวกนี้เรายกให้เป็นผู้บรรยายอาชีพ

กฎ 80/20

กฎส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยจะชอบตราเอาไว้ข้อหนึ่งที่ว่า

ผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาชั้นป.ตรีได้ต้องมีวุฒิอย่างน้อยปริญญาโทหรือปริญญาเอก

นั่นเป็นหนึ่งในปัญหาชีวิตของนักเรียนเลยนะ
มันเป็นปัญหาอย่างไรน่ะเหรอ ก็คือว่า...คนเก่งๆ พวกนี้ส่วนมากจะเป็นคนสไตล์นักวิชาการ และนักวิชาการมันมีสกิลการสอนที่ทำให้คนเรียนไม่รู้เรื่องได้ง่ายมาก (ส่วนจะตั้งใจสอนหรือสอนเอาชั่วโมงนั่นเป็นอีกเรื่องนึง) โดยส่วนใหญ่ที่เจอมาในประสบการณ์น่ะนะ ยิ่งวุฒิสูง ส่วนมากสอนไม่ค่อยรู้เรื่อง

และแน่นอนว่าคนที่สอนเก่งแต่ไม่มีวุฒิก็มันจะไม่ได้มายืนสอนอยู่ตรงนี้เพราะดูที่สิ่งที่เขียนอยู่ใน transcript อย่างเดียวไม่ดูความสามารถในการสอนเลย ทั้งที่จริงนักศึกษากว่า 80% ต้องการคนที่สอนรู้เรื่อง ไม่ใช่ต้องการคนมีวุฒิแต่พูดไม่รู้เรื่องมายืนหน้าห้องตอนเรียน
อีก 20% เหลือไว้ให้พวกที่ชอบเรียนกับพวก ดร. หรือ ศาสตราจารย์ ต่างๆ

 

จริงๆ มันเป็นกฎของ user behavior ในทฤษฎีการออกแบบ UX นะ ไว้วันหลังจะพูดถึงอีกที ... แต่มาคิดไปคิดมาแล้วมันก็ใช้กับเรื่องนี้ได้เหมือนกัน

ถ้าเราแบ่งนักเรียนในรุ่นหนึ่งๆ ออกเป็น 2 กลุ่มคือ

  1. กลุ่มที่ต้องการเรียนให้จบ แล้วออกไปทำงานหาเงิน
  2. กลุ่มที่ต้องการวุฒิสูงๆ จบมาเป็นนักวิชาการและอาจารย์ต่อไป

ซึ่งสัดส่วนของ 2 กลุ่มนี้คือ 80/20 .. มีเพียง 2 ใน 10 คนเท่านั้นแหละที่จะมีชีวิตต่อไปในสายงานวิชาการ นอกนั้นน่ะเหรอ มีนิดหน่อยที่ออกไปทำงานตรงสายที่เรียนมีและอีกกว่าเกินครึ่งเปลี่ยนสายงานที่ทำไปเลย

แต่นี่คือคำถาม --> ใครเป็นคนออกหลักสูตร?
แน่นอน --> กลุ่ม 20 ไงล่ะ

ดังนั้นที่คนชอบบ่นกันว่า "เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ ตาย-่าก็ลืมหมด" นั้นก็ไม่ใช่ว่าไม่จริงซะทีเดียว อย่างที่ โน๊ต อุดม ได้กล่าวไว้ "ให้ท่องสูตรพื้นที่วงกลมไปเนี่ย คิดว่าในชีวิตจะได้ใช้มันซักกี่ครั้ง?"
อย่าเถียงว่าคนใช้นะ (เพราะเราแย้งแบบนั้นในใจไปแล้ว 555) .. ไม่ๆ ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเนื้อหาพวกนี้มันมีแต่คนเฉพาะทางเท่านั้นแหละที่จะได้ใช้ ส่วนใหญ่เรียนจบไปก็ลบมันออกจากหน่วยความจำเรียบร้อยแบบแทบจะกู้คืนไม่ได้ด้วยซ้ำ

เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ จึงมีสาเหตุมาจากเนื้อหาที่เราเรียนๆ กันอยู่ออกโดยกลุ่ม 20 ซึ่งแนวคิดของกลุ่มนี้คือ ทฤษฎี เป็นหลัก แต่จะขาด ปฏิบัติ เลยก็ไม่ได้ งั้นแถมให้แซมๆ มาซัก 20 ส่วนละกัน

คนส่วนใหญ่ 80 เลยมักจะลืม เนื้อหาการเรียน 80 นั่นไปซะหมดเพราะเขาต้องการแค่ 20 นั่นแหละ
อย่างเช่นเรียนมาแทบตาย ยังจำได้?

คุณจะเอาวิธีดุลสมการเคมีไปใช้ตอนไหน .. ถ้าคุณไม่ใช่นักเคมีแบบทำงานตรงสาย
คุณจะเอาวิธีคิดเส้นลาตัสเร็กตัมของกราฟพาราโบร่าไปใช้ตอนไหน .. ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ทำงานในสายวิทยาศาสตร์
คุณจะเอากาพย์เห่เรือไปท่องให้ใครฟัง .. ถ้าคุณไม่ใช่นักภาษาศาสตร์

สำหรับเราแล้ว เรียนมหาวิทยาลัยมา 4 ปี เจออาจารย์ที่เป็นนักสอนอาชีพไม่ถึง 5 คน
คนหนึ่งในนั้นสอนวิชา Fundamental Programming ให้ ถือเป็นบุญมากที่ได้เรียนกับเขา เพราะพื้นฐานที่ปูให้เรียกได้ว่าแน่นมาก แกสอนโดยเน้นว่าคุณมาเรียนเพื่อเอาความรู้ไปให้ในชีวิต แนวการสอนส่วนใหญ่จึงมีแต่เรื่องว่าในชีวิต คุณจะเจอเรื่องแบบนี้ ต้องแก้ปัญหาแบบนี้ เรียกได้ว่าเอาประสบการณ์ทำงานมาสอนทีเดียว
ส่วนอีกคนเป็นอาจารย์นอก (หมายถึงคณะจ้างมาเฉพาะกิจ ไม่ได้เป็นอาจารย์บรรจุแล้ว) คนนี้ก็เก่งมาก สอนวิชา Network ให้เรา ลักษณะการสอนของแกก็จะคล้ายๆ คนแรก แต่เนื่องจากคณะจ้างมาก็ต้องใช้สไลท์ของทางคณะ ปกติอาจารย์คนอื่นจะสอนโดยการเปิดสไลท์แล้วพูดไปเรื่องๆ ตามเนื้อหา แต่อาจารย์คนนี้ไม่ทำแบบนั้น สไลท์เหรอ? ทางคณะบอกให้เปิด งั้นเปิดก็ได้ แต่จะไม่สอนตามสไลท์นะ ขอพูดสดถึงเนื้อหามันเลยดีกว่า (สไลท์ก็เปิดอยู่ แต่อาจารย์ไม่เคยชำเลืองมองมันสักครั้ง)

จะเห็นว่าสิ่งที่นักศึกษาต้องการคือคะแนนสอบและเกรด แต่สิ่งที่ต้องการยิ่งกว่าซึ่งตัวเองมักจะไม่รู้ตัวคือประสบการณ์ที่อาจารย์เอามาพูดให้ฟัง คนส่วนใหญ่ต้องการเรียนจบแล้วมีงานทำ มีเงินกันทั้งนั้น มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องการจะไปต่อเพื่อเป็นนักวิชาการ

แต่อาจารย์ส่วนใหญ่นัั้นเป็นนักวิชาการกันเสียมาก สิ่งที่สอนจึงเหมาะสำหรับคนที่อยากเป็นนักวิชาการเท่านั้น บางเรื่องเรียนจบแล้วกลับไปถามอาจารย์ บางคนก็ตอบไม่ได้เพราะตัวเองไม่เคยทำงานมาก่อน เรียนจบก็เป็นอาจารย์ต่อเลย

ติวเตอร์

อันนี้แถมท้าย นั่นคือ พี่สอนพิเศษ!
ใครจะมองคนกลุ่มนี้เป็นยังไงก็ช่าง แต่เราให้นิยามกลุ่มนี้ว่าเป็น

ครูที่สอนวิธีการทำให้ได้คะแนน (ที่ต้องการรายได้พิเศษ)

หมายความว่า ... ผมมีความรู้ คุณมีกำลังทรัพย์ เราเอามาแลกกันไหม?
ส่วนใหญ่ติวเตอร์คือคนที่เรียกได้ว่าบรรลุในวิชานั้นๆ แล้ว (คนที่ไม่บรรลุก็มี แล้วแต่คุณจะเจอ) ถามได้ตอบได้ ไม่ว่าน้องที่มาเรียนจะเอาคำถามในวิชานี้มาถามแบบไหนก็ตอบได้ และตอบได้แบบชิลๆ ด้วยเพราะเจอคำถามพวกนี้มาเป็นสิบครั้งแล้ว (ฮา)

สิ่งที่ติวเตอร์ถนัดก็คือวิธี การทำให้คนเรียนเข้าใจนิดหน่อย และ ได้คะแนนสอบเยอะๆ ซึ่งตรงกับสิ่งที่คนเรียนต้องการ ถ้าอยากได้ความรู้ก็ย่อมได้ แต่ขอบอกเลยในฐานะที่ตัวเองก็เป็นติวเตอร์อยู่เหมือนกันว่านักเรียนส่วนใหญ่อยากได้อะไรก็ได้ที่พอเข้าห้องสอบแล้วเขารู้ว่าต้องเขียนอะไรลงไปไม่ใช่มืดแปดด้าน

กลุ่มนี้เราจัดว่ามีความสามารถในการสอนมากที่สุด เพราะถ้าติวเตอร์คนไหนสอนไม่เก่ง ไม่นานนักก็คงจะเลยอาชีพนี้ไปเองเพราะไม่มีใครจ้าง

2619 Total Views 2 Views Today
Ta

Ta

สิ่งมีชีวิตตัวอ้วนๆ กลมๆ เคลื่อนที่ไปไหนโดยการกลิ้ง .. ถนัดการดำรงชีวิตโดยไม่โดนแสงแดด
ปัจจุบันเป็น Senior Software Engineer อยู่ที่ Centrillion Technology
งานอดิเรกคือ เขียนโปรแกรม อ่านหนังสือ เขียนบทความ วาดรูป และ เล่นแบดมินตัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *