มือใหม่หัดถ่ายรูป – ตอนที่ 1 มารู้จักกล้องดิจิตอลกันเถอะ

ไม่ได้อัพบล๊อกมาช่วงนึงแล้ว วันนี้อยากลองเปลี่ยน Topic เขียนบ้าง ขอเขียนเกี่ยวกับกล้องละกันนะ

ส่วนตัวแล้วเพิ่งจะมีความสนใจในการ "เล่นกล้อง" มาไม่กี่เดือนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นคนไม่ค่อยเที่ยว เลยไม่สนใจเรื่องถ่ายรูปเท่าไหร่ ปกติใช้กล้องมือถือตลอด ก็ถือว่าพอแล้วสำหรับคนที่ไม่ได้จะเอาอะไรมาก เน้นจัดคอมโพส (องค์ประกอบของภาพ) อย่างเดียว

แต่จู่ๆ ก็อยากจะลองถ่ายรูปแบบจริงจังขึ้นมาหน่อย ก็เลยคิดจะซื้อกล้องสักตัวมาเล่นดู แล้วก็พบว่า โอ้...นี่มันอะไรกันเนี่ย สเป็กกล้อง ศัพท์เทคนิค ชื่อเรียก ค่าF ระยะโฟกัส เลนส์ พวกนี้มันอะไรกัน อ่านไม่รู้เรื่องเลย หรือว่าเราจะกลับไปเล่นกล้องมือถือแบบเดิมดีนะ (ฮา)

เนื่องจากกว่าจะหาข้อมูลมาได้จนตอนนี้เลือกซื้อกล้องเสร็จจนไปเลือกเลนส์ต่อแล้วก็ใช้เวลานานพอสมควร ดังนั้นบล๊อกเรื่องมือใหม่หัดถ่ายรูปนี่เลยเกิดขึ้นมาบันทึกเรื่องราวสำหรับมือใหม่ที่อยากลองเล่นกล้อง แต่ไม่มีความรู้เลย ... ก็ถือว่าเป็นการจดบันทึกข้อมูลที่หามาได้ไปในตัวละกันนะ

สมัยก่อนตอนที่คอมพิวเตอร์ยังไม่ใช่สิ่งที่พบมากแบบทุกวันนี้ โลกยังเป็นยุคอนาล็อกอยู่ นั่นหมายความว่าอุปกรณ์เครื่องมือทุกชิ้นล้วนทำงานแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์มาผสมทั้งนั้น

กล้องถ่ายรูปก็เป็นหนึ่งในสิ่งนั้น ราว 10-20 ปีก่อนกล้องถ่ายรูปทั้งหมดแทบจะเป็นกล้องฟิล์มทั้งหมด หากใครเกิดทันอาจจะเคยเห็นตลับฟิล์มที่ก่อนจะใช้ต้องเปิดกล้องและดึงฟิล์มออกมาเซ็ตเข้ากับกล้องให้เรียบร้อย จะถ่ายรูปก็ต้องมองผ่านช่องมองภาพและกดชัตเตอร์ ในยุคนั้นผู้ถ่ายจะไม่มีทางรู้เลยว่ารูปที่ออกมาจะเป็นยังไงจนกว่าจะเอาฟิล์มไปล้าง ด้วยวิธีที่ยุ่งยากพวกนี้ทำให้คนทั่วไปถ่ายรูปออกมาไม่สวยเท่าไหร่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่คนไม่นิยมถ่ายรูปเท่าตอนนี้ก็ว่าได้ล่ะ

แต่หลังจากโลกมีคอมพิวเตอร์แล้ว ยุคของการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มก็ถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิตอล ด้วยความง่ายของมันที่หลังจากกดชัตเตอร์แล้วก็เห็นรูปได้เลย การปรับค่าก็ง่ายขึ้น ตลับฟิล์มที่ใช้ยากและมีจำนวนรูปที่ถ่ายได้จำกัดก็เปลี่ยนเป็น Memory card เล็กๆ จุรูปถ่ายได้เป็นพันๆ รูป ถ่ายมาเสียก็ลบทิ้งตอนนั้นได้ทันทีด้วย คนสมัยนี้จึงถ่ายรูปกันเยอะมาก ยิ่งพอมีโซเชียลเน็ตเวิร์คมายิ่งถ่ายกันใหญ่ เรียกว่ายุค แชะแล้วแชร์ อย่างแท้จริง

เอาล่ะ เกริ่นมาตั้งนาน วันนี้ก็จะมาพูดเรื่องกล้องดิจิตอลนี่แหละ ทั้งหมดของกล้องในตลาดตอนนี้แทบไม่ต้องพูดแล้วว่า “มันคือกล้องดิจิตอลนะ” หลังจากกล้องรุ่นแรกๆ ออกมาแล้วได้รับความนิยม (แม้ตอนแรกจะยังไม่ค่อยมีคนใช้เยอะเพราะราคาแพง แต่หลังๆ เริ่มแมสขึ้น ราคาก็ถูกลงมา) รุ่นต่อๆ มาก็ผุดออกมาเป็นดอกเห็ดจนคนใช้เลือกไม่ถูก บทความนี้เลยเขียนขึ้นมาเพื่อบอกว่ากล้องดิจิตอลคืออะไรและแบ่งประเภทกล้องดิจิตอลให้ได้รู้จักกัน

มันก็คือกล้องเหมือนเดิมนั่นแหละ แค่ไม่ใช้ฟิล์มแล้ว

ในการถ่ายรูปนั้น ตั้งแต่มีการคิดกล้องขึ้นมาหลักการก็แทบจะไม่ต่างจากเดิมเลย นั่นคือใช้เลนส์รวมแสงหรือรับแสงเข้ามาแล้วให้ตกกระทบกับฉากรับแสงเพื่อเกิดรูปนั้นไว้ เจ้าฉากรับแสงเนี่ยในสมัยก่อนเราใช้ฟิล์มแต่เมื่อยุคดิจิตอลมาถึง จากฟิล์มก็ถูกเปลี่ยนเป็นเซ็นเซอร์รับแสงแทน

ทีนี้พอใช้เซ็นเซอร์รับแสงสิ่งที่เราได้ก็ไม่ใช่ฟิล์มที่บันทึกภาพอีกต่อไปแต่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เก็บลงในเมมโมรี่การ์ดแทนยังไงล่ะ ไม่ว่าจะกล้องใหญ่ กล้องเล็ก กล้องมือถือต่างก็ใช้หลักการแบบนี้หมด
โดยเราขอแบ่งประเภทของกล้องออกเป็น

- สามัญชนคนทั่วไป เราขอแนะนำให้ใช้ กล้องมือถือ หรือ คอมแพ็ค ก็พอ
- มือใหม่อยากลองของแต่ยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ ถ้าอยู่ในกลุ่มนี้กล้องคอมแพ็ครุ่นสูงๆ ก็ยังตอบโจทย์คุณได้ หรือจะให้ดีลองเล่น มิเรอร์เลส ดูเลยดีกว่า
- มือโปรระดับถ่ายรูปหาเงินได้ ระดับนี้คุณคงไม่ต้องการคำแนะนำอะไรอีกแล้ว จัดเต็มกับ Mirrorless รุ่นสูงๆ หรือข้ามไปเล่น DSLR ไปได้เลย

โอเค ตอนนี้เรารู้แล้วว่ากล้องมี 3 ระดับ สูง-กลาง-ต่ำ ดังนั้นขอเริ่มเจาะรายละเอียดด้วยระดับเบสิกที่สุดตัวแรกกันเลย นั่นคือ

 

*กล้องระดับทั่วไป

 

หมายถึงกล้องทั่วๆ ไปที่คนธรรมดาใช้กัน หรือกล้อง "Point and Shoots" ยกเล็งแล้วแชะเลย กล้องมักจะเซ็ตมาให้เป็นโหมด Auto โดยเปลี่ยนอะไรไม่ค่อยได้

Smart-Phone Camera หรือ กล้องมือถือ

เดี๋ยวนี้คนที่ถ่ายรูปไม่เป็นคงมีน้อยมากเลยเมื่อวิวัฒนาการของกล้องมันลงไปรวมร่างกับมือถือจนเป็นหนึ่งเดียวกันไปเรียบร้อยชนิดที่ว่ามือถือ (สมาร์ทโฟน) เครื่องนั้นคงขายไม่ออกอีกต่อไปถ้าไม่มีกล้องติดมาให้ด้วย เดี๋ยวนี้พัฒนาการของกล้องมือถือก้าวไปไกลแล้วนะ ระดับที่ว่าถ้าไปเที่ยวไม่ว่าจะทริปในประเทศหรือนอกประเทศ ใช้แค่มือถือถ่ายรูปก็ไม่น่าเกลียดอะไร จะเอากลับมาอัดรูป 4x6 ก็ยังได้เลยเพราะกล้องมือถือตอนนี้ก็มีความละเอียด 8-13 ล้านพิกเซลขึ้นไปแล้วทั้งนั้น ยิ่งถ้าคุณใช้ Nokia Lumia (ที่ตอนนี้โดนตัดแบรนด์โนเกียทิ้งไปซะแล้ว) ที่เน้นเรื่องกล้องเป็นพิเศษ เช่น Lumia 1020 ที่ให้กล้อง 41ล้านพิกเซลมากมันก็เยอะเกินไปแล้ว (ฮา)

กล้องมือถือเหมาะกับใคร?

- คนส่วนใหญ่ที่ไม่ซีเรียสกับการถ่ายรูป / ไม่แคร์ว่าคุณภาพของไฟล์เป็นอย่างไร ขอให้โชว์ให้เพื่อนๆ ดูได้ก็พอใจแล้ว
- คนที่ไม่อยากพกกล้อง เพราะมือถือติดตัวเราตลอดเวลาอยู่แล้ว อยากถ่ายก็แค่หยิบมือถือขึ้นมา
- มนุษย์โซเชียลที่ชอบการ แชะแล้วแชร์ เป็นชีวิตจิตใจ เพราะมันคือสมาร์ทโฟน เรื่องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทนั้นเรียกว่าจิ๊บๆ
- ผู้ที่ชอบ selfie ตัวเองและเพื่อนฝูง (มือถือมันเบาดีไง แถมมีกล้องหน้าด้วย ยกถ่ายง่าย)
- ชอบใช้แอพฯ แต่งภาพหรือ camera app ต่างๆ

smartphone-4smartphone-3

แต่ข้อเสียของกล้องมือถือก็มีนะ

- จริงๆ แล้วชื่อมันก็บอกนะว่ามันคือ มือถือ! มันไม่ใช่กล้อง ถ้าอยากใช้มันแทนกล้องอาจจะไม่ถนัดมากนัก ปุ่มก็ไม่ค่อยมี ถือก็ยาก
- ถ่ายเยอะๆ พาลทำให้มือถือแบตหมดซะอีก
- และที่เป็นข้อด้อยของมันที่สุดก็คือเซ็นเซอร์รับภาพ!

สมาร์ทโฟนเดียวนี้แข่งกันที่ความบางและน้ำหนักเบากัน (แต่ขนาดหน้าจอกลับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) ดังนั้นการอัดกล้องขนาดใหญ่เข้าไปให้มือถือดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องดีเสียเท่าไหร่ พอกล้องมันขนาดเล็ก เซ็นเซอร์รับภาพจึงเล็กตามไปด้วย

คงจะเดาได้ว่าเซ็นเซอร์ใหญ่ย่อมให้ไฟล์รูปคุณภาพสูงกว่าเซ็นเซอร์เล็กอยู่แล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่ภาพจากกล้องมือถือมันจะดีได้ในระดับหนึ่งแต่ยังไงก็สู้กล้องใหญ่ไม่ได้ยังไงล่ะ
เรื่องขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพทำให้ภาพออกมาต่างกันอย่างไรยังไม่ขอพูดตอนนี้ล่ะกัน เราไปดูประเภทของกล้องกันให้ครบก่อน

Compact Camera หรือ กล้องสามัญชน

ในประเภทนี้ถือเป็น “กล้องจริงๆ” ตัวแรกของเรา กล้องตอนออกมาใหม่ๆ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแต่ปัจจุบันโดนตลาดสมาร์ทโฟนเบียดซะจนตกขอบจนรุ่นหลังๆ ต้องหาลูกเล่นแพรวพราวฟรุ้งฟริ้งใส่มาให้ดูมีอะไรแถมโปรโมทว่ากล้องตัวเองต่ออินเตอร์เน็ตแชร์รูปลงโซเชียลฯ ได้แล้วด้วยนะ สีสันก็มีให้เลือกมากที่สุด ไม่งั้นก็ขายไม่ออก

สำหรับกล้องชนิดนี้ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพก็ไม่ต่างจากกล้องมือถือมากนัก บางรุ่นเซ็นเซอร์เล็กกว่ากล้องมือถือซะอีกนะ แต่ขอได้เปรียบของมันคือเรื่องของเลนส์

แม้ว่ากล้องคอมแพ็คจะใช้เซ็นเซอร์แบบกล้องมือถือ แต่มือถือไม่มีเลนส์ออปติตอลซูม (เลนส์ที่ซูมยื่นออกมาได้) ทำให้เรื่องการรับแสง ซูมภาพไกลและการจับโฟกัสภาพมันทำได้ดีกว่า

เป็นกล้องที่ใช้ง่ายที่สุด ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเลนส์หรือซื้ออะไรมาติดเพิ่มไม่ได้ เรียกได้ว่าแกะห่อปุ๊บพร้อมใช้งานปั๊บ ส่วนใหญ่กล้องพวกนี้มักคิดแทนคนใช้ ทั้งการวัดแสง จับโฟกัส ปรับค่าสี ความเร็วชัตเตอร์ เรียกว่าทุกอย่างเลย ผู้ใช้เลือกได้แต่โหมด Auto เซ็ตค่าแมนนวลอะไรได้ค่อยจะได้ยกเว้นรุ่นสูงมากๆ ที่ทำออกมาตีตลาดกล้องกลุ่มโปร

ตัวอย่างกล้องคอมแพ็ครุ่นสูงเช่น Sony RX-100 ที่สเป็กระดับกล้องโปรราคาหลายหมื่นบาท

 

กล้องคอมแพ็คเหมาะกับใคร?

- คนที่อยากได้กล้องแบบง่ายๆ คนใช้แค่กดชัตเตอร์อย่างเดียวที่เหลือกล้องคิดให้
- คนที่อยากได้กล้องถ่ายรูปแต่มือถือของตัวเองกล้องห่วยมาก และก็ยังไม่อยากซื้อมือถือใหม่ตอนนี้
- คนที่อยากได้กล้องแยกกับมือถือไปเลย กันแบตเตอรี่หมดหรือมีสายเรียกเข้าตอนกำลังถ่ายรูปอยู่พอดีเลย

แต่กล้องคอมแพ็คไม่เหมาะกับคนที่ไม่พอใจรูประดับกล้องมือถือทำได้ เพราะขนาดเซ็นเซอร์มันไม่ต่างกันเลยแบบที่บอกไปแล้วข้างต้น

 

โอเค มาถึงตอนนี้ถ้าคุณมีความรู้สึกว่ากล้องมือถือไม่ตอบโจทย์คุณอีกต่อไป ก็แปลว่าสิ่งที่คุณต้องการคือกล้องระดับโปรแล้ว

 

*กล้องระดับสูง

 

กล้องที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานมากมาย เซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่ หน่วยประมวลผลที่เร็วรัวภาพได้เป็น10ภาพต่อเนื่อง บอดี้ของกล้องส่วนมากไม่ใช่พลาสติกทำให้ทนสภาพอากาศเย็นจัดได้ ที่สำคัญคือมีเลนส์ให้เลือกเปลี่ยนตามสถานการณ์ (เตรียมตัวเป็นโรคเลนส์งอกได้เลย เสียเงินแน่ๆ)

เดิมทีกล้องโปรคือ SLR พอเป็นกล้องดิจิตอลก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น DSLR (เติม D จาก Digital เข้าไปข้างหน้า) แต่ด้วยรูปร่างที่ใหญ่เทอะทะไม่ถูกใจคนส่วนมาก บริษัทกล้องจึงออกกล้อง Mirrorless ตามมาซึ่งเป็นการตัดกระจกสะท้อนภาพของ DSLR ทิ้งไป กล้องเลยมีขนาดเล็กลง

แปลว่าก่อนจะรู้จักมิเรอร์เลสได้ เราต้องรู้จักการก่อนว่า DSLR คืออะไร ประมาณจะสืบประวัติลูกหลานก็ต้องรู้จักต้นตระกูลเสียก่อน

DSLR

กล้องดำเมี่ยมที่ใหญ่ขนาดฟาดหัวคนแตก ถือเป็นสิ่งที่คนที่เล่นกล้องใฝฝันอยากได้กัน แต่คนทั่วไปโดยเฉพาะสาวๆ ไม่ค่อยจะอยากถือมันซะเท่าไหร่เพราะรูปลักษณ์ใหญ่ ดำ หนักของมันนี่แหละ ยี่ห้อที่ดังที่สุดก็เห็นจะเป็น Canon กับ Nikon ล่ะ  ปุ่มสำหรับควบคุมกล้องก็มากมายจนกดไม่ถูกเลย

DSLR ย่อมาจาก Digital Single-Lens Reflex หมายถึงกล้องที่ใช้เลนส์เดี่ยว (เลนส์ตัวเดียว) ในระบบดิจิตอล (ก็แน่อยู่แล้วล่ะ) ซึ่งรับภาพด้วยการสะท้อนม่านชัตเตอร์กระจกเอา (ห๊ะ? O__O )

ดูจากในรูป เจ้ากระจกที่ทำหน้าที่เป็นม่านชัตเตอร์คือสีน้ำเงิน ตัวเซ็นเซอร์รับภาพคือตัวสีเขียว เมื่อภาพเข้ามาตอนที่เรายังไม่ได้กดชัตเตอร์ เจ้ากระจกนั่นก็จะสะท้อนมันขึ้นไปยังช่องมองภาพ แต่พอเรากดชัตเตอร์ถ่ายภาพ กล้องจะดีดม่านชัตเตอร์กระจกขึ้นไป ทำให้ภาพจะพุ่งไปตกที่ตัวเซ็นเซอร์ได้และเราก็จะได้ยินเสียง "แชะ" ซึ่งมาจากการดีดม่านชัตเตอร์นี้นี่เอง

เรียกได้ว่า DSLR ใช้หลักการของกล้องฟิล์มสมัยก่อน (ที่เรียกว่า SLR) เพียงแค่เปลี่ยนจากฟิล์มเป็นตัวเซ็นเซอร์รับภาพเท่านั้นเอง

และแน่นอน ถ้าคุณเคยไปลองเล่น DSLR คุณอาจจะสงสัยว่ามันมีจอภาพติดมาทำไมไม่เห็นมีภาพแสดงเลย ต้องมองจากช่องมองอย่างเดียวตอนนี้ก็คงได้คำตอบแล้วสินะ เพราะสิ่งที่จะไปโผล่บนจอภาพได้มันจะต้องเป็นภาพที่ตกลงบนเซ็นเซอร์ แต่ถ้าเรายังไม่กดชัตเตอร์ ม่านชัตเตอร์ไม่เปิด เซ็นเซอร์ก็ไม่ได้ภาพหรอกนะ ที่ต้องทำแบบนี้เพราะอย่างแรกคือต้องการประหยัดแบตเตอรี่ไม่ต้องแสดงภาพบนจอตลอดเวลา อย่างที่สองคือช่วยให้ระบบโฟกัสของกล้องเร็วขึ้นด้วย

DSLR เหมาะกับใคร?

- คนที่อยากได้กล้องระดับสูง คุมได้ทุกอย่าง
- อยากได้ภาพถ่ายเทพๆ ปรับค่าได้ดั่งใจ
- คนที่อยากจริงจังกับการถ่ายภาพหรือรับงานสายนี้ แต่แน่นอนว่าต้องแลกมากับการศึกษาที่จริงจังกว่าจะคุมกล้องได้
- ต้อง-มี-ตังค์!

DSLR ไม่เหมาะกับใคร?

- คนที่ไม่อยากศึกษาอะไรมากมาย ซื้อกล้องใหญ่มาแล้วใช้แต่โหมด Auto
- ถ้าใช้แค่โหมด Auto แนะนำว่าอย่ากล้องใหญ่เลย ใช้แค่ คอมแพ็ค หรือถ้าอยากได้ไฟล์คุณภาพดีก็ใช้ มิเรอร์เลส ก็พอแล้ว คุณภาพของรูปก็ไม่ต่างกันหรอก

Mirrorless

ในเมื่อกล้อง DSLR มันขนาดใหญ่มากเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของกล้องต้องเผื่อเอาไว้ให้กระจกสะท้อนแสง คนทั่วไปไม่ชอบ บริษัทกล้องเลยออกแบบใหม่ โดยกล้องมิเรอร์เลสจะมีขนาดลดลงเหลือเท่ากล้องคอมแพ็คเท่านั้น แต่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหมือนDSLR จนดูเผินๆ แล้วนึกว่าเป็นกล้องขนาดเล็กไปเลย

ตอนกล้อง DSLR ค่ายที่เป็นผู้นำคือ Canon และ Nikon แต่สำหรับตลาดมิเรอร์เลสแล้วกลับไม่ค่อยดังมากเท่าไหร่ ในเรื่องนี้ค่าย Olympus, Sony, และ Panasonic (ในชื่อแบรนด์ Lumix) ทำได้ดีกว่า

สำหรับกล้อง DSLR ใช้หลักการดีดม่านชัตเตอร์กระจก มิลเลอร์เลสก็ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามคือฉันจะไม่ดีดม่านชัตเตอร์กระจกเพราะฉันไม่มี!

มิเรอร์เลสออกแบบมาโดยใช้คอนเซ็ปที่ว่า เอาDSLRมาย่อขนาดลง ดังนั้นอะไรไม่จำเป็นก็ตัดทิ้งไป ช่องมองที่จำเป็นสำหรับกล้องยุคฟิล์มเลยไม่จำเป็นอีกต่อไปเมื่อเรามีเซ็นเซอร์รับภาพที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ได้ ... เจ้า "ม่านกระจกชัตเตอร์" ที่มันทำให้ตัวกล้องใหญ่เลยเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกตัดทิ้งไป! เป็นที่มาของชื่อ มิลเลอร์เลสหรือกล้องไร้กระจกชัตเตอร์นั่นเอง

แต่ถึงมิเรอร์เลสจะถอดเปลี่ยนเลนส์ได้แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เลนส์ร่วมกับ DSLR ไม่ได้เพราะตัวต่อคนละตัวกัน เลนส์ของมิเรอร์เลสนั้นออกแบบมาให้พอๆ กับขนาดกล้องเล็ก จึงมีขนาดเล็กกว่าเลนส์ของ DSLR มาก

บอดี้กล้องลดขนาดให้เล็กที่สุด แต่ต่อเข้ากับเลนส์ขนาดใหญ่ก็ได้นะ

แล้วเราควรเลือกอะไรมาใช้ดี

อย่างที่บอกไปตอนแรก เราแบ่งกล้องออกเป็นกล้องระดับบนและระดับล่าง แยกง่ายๆ ก็ด้วยวิธีการใช้งาน

- ถ้าไม่อยากลงทุน กล้องมือถือก็เพียงพอแล้ว

- ถ้าเริ่มจริงจังกับรูปถ่าย อยากได้รูปสวยๆ แต่ไม่อยากศึกษาอะไรยุ่งยากนักก็สำรวจเงินในกระเป๋า กล้องคอมแพ็คจะถูกกว่า แต่ยังไงก็สู้มิเรอร์เลสไม่ได้ ... ผู้ใช้ในกลุ่มนี้ใช้แต่โหมด Auto แน่นอนและไม่ซื้อเลนส์ใหม่แน่นอน ดังนั้นเลือกซื้อรุ่นที่งบสู้ไหวก็พอ

- ระดับจริงจัง ในระดับนี้ผู้ใช้จะเริ่มศึกษาข้อมูลและทฤษฎีการถ่ายภาพแล้ว กล้องที่ตอบโจทย์ได้ขั้นต่อที่สุดคือมิเรอร์เลส แต่ถ้าใช้ไปเรื่อยๆ แล้วยังไม่พอใจอีกยังไงก็ได้ซื้อ DSLR แน่ๆ ล่ะ

71696 Total Views 2 Views Today
Ta

Ta

สิ่งมีชีวิตตัวอ้วนๆ กลมๆ เคลื่อนที่ไปไหนโดยการกลิ้ง .. ถนัดการดำรงชีวิตโดยไม่โดนแสงแดด
ปัจจุบันเป็น Senior Software Engineer อยู่ที่ Centrillion Technology
งานอดิเรกคือ เขียนโปรแกรม อ่านหนังสือ เขียนบทความ วาดรูป และ เล่นแบดมินตัน

You may also like...

1 Response

  1. 16 มีนาคม 2018

    […] เราก็เคยเขียนบทความชุดมือใหม่หัดถ่ายรูปเอาไว้ […]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *